วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Travel Material: บันทึกจากสถาปัตยกรรมในเวนิส



จากบทความ “Travel Material: Notes from the Venice Architecture” ในนิตยสาร Matter ฉบับ 6.4 เขียนโดย George Beylerian

ศิลปินหลายคนมีความสนใจเป็นพิเศษในการทดลองใช้วัสดุกับงานของตน George Beylerian (CEO และผู้ก่อตั้ง Material ConneXion) ได้พบเห็นสิ่งเหล่านี้ เมื่อไปชมนิทรรศการ Venice Biennale ครั้งที่ 53 ที่จัดขึ้นเมื่อต้นปี 2552 และเขาได้รายงานจากเวนิสถึงผลงานที่มีรูปลักษณ์อันน่าตื่นเต้นของสองศิลปิน คือ GUALTI และ Federica Marangoni ศิลปินผู้หลงใหลในตัววัสดุ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีรูปทรงหลากหลายด้วยวิธีและรูปแบบที่แตกต่างกัน

GUALTI: เส้นสายของแสง (Shoot of Light)
ใจกลางของ Dorsoduro เป็นกล่องอัญมณีสีขาว มีพื้นที่เกือบ 12 ฟุต x 12 ฟุต ซึ่งเต็มไปด้วยอัญมณีที่สวยงามอ่อนช้อยและน่าหลงใหลประดับบนร่างกาย อย่างไรก็ตามอัญมณีเหล่านี้ไม่ได้ทำจากทองหรือเพชรพลอย แต่ใช้เส้นด้ายจากเส้นใยไนลอนและเรซินเป็นวัสดุพื้นฐานในการทำงาน ผลงานชิ้นนี้เป็นงานที่ GUALTI (Gualtiero Salbego) สามารถออกแบบและสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างงามวิจิตร

เครื่องประดับชุดนี้ประกอบด้วยแถบคอเสื้อที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ดูหรูหรา คอเสื้อและสายรัดข้อมือที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสง่างามและมีรูปทรงคล้ายผีเสื้อนี้ เรียงจับเป็นรวงจีบอย่างประณีตและเลือกใช้โทนสีสว่างได้อย่างนุ่มนวล โดยใช้เรซินเป็นวัสดุหลักและร้อยเรียงด้วยเส้นใยไนลอน วิธีการเช่นนี้สะท้อนถึงความทรงจำในวัยเด็กเมื่อครั้งที่เขาดึงรากไม้ออกจากดินราวกับเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง เขาได้สร้าง “Shoots of Light” ประหนึ่งว่าเป็นส่วนที่ต่อขยายออกมาจากร่างกาย

นิ้วมือที่สามารถรับรู้และไวต่อการสัมผัสของศิลปินผู้นี้บ่งบอกถึงประสบการณ์ในการทำงานที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี เมื่ออายุ 13 ปี เขาได้ทำงานในห้องปฏิบัติการของศิลปิน/ช่างปั้นเซรามิกคนหนึ่ง ที่เมือง Capodimonte ครั้นพออายุ 18 ปี เขาได้พัฒนาความหลงใหลให้เป็นสิ่งที่สามารถสวมใส่ได้ โดยมักจะออกแบบเป็นรูปทรงโค้งเว้าและเล่นกับความยืดหยุ่น ราวกับว่าเป็นสิ่งที่ต่อขยายออกมาจากชิ้นงานศิลปะของเขา เขาอธิบายว่างานของเขาไม่ใช่งานแฟชั่นแต่เป็นงานศิลปะ ผลงานของเขาเป็นกระจกสะท้อนถึงความต้องการ ที่แสดงออกมาผ่านทางรูปทรงและสีสันของผลงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ GUALTI ได้สร้างความอัศจรรย์ผ่านสี รูปแบบ ส่วนโค้ง รูปทรง และความละเอียดอ่อนของผลงาน ถือได้ว่าเขาเป็นนักมายากลที่เล่นกับรูปทรงและสีอย่างแท้จริง

Federica Marangoni: ดินแดนในอุดมคติ (Places of Utopia)
วันที่ 9 พฤศจิกายน ผลงานของศิลปิน นักออกแบบ และปฏิมากรแสงชาวเวนิส Federica Marangoni ที่ชื่อว่า “No more” ซึ่งเป็นผนังที่ประกอบขึ้นจากแผ่นกระจกที่ถุกทำให้แตกและตกแต่งด้วยหลอดนีออนสีแดง ได้จัดแสดงขึ้นที่ จัตุรัส Piazza della Scala ในงานกิจกรรมสาธารณะ “Plaza: Beyond the Limit 1989-2009, Milan’s open-air museum, Contemporary Art for the XX Anniversary of the fall of the Berlin Wall” ผลงานชิ้นนี้มีรูปทรงที่สะเทือนอารมณ์และสามารถสื่อความรู้สึกของผู้ชมให้เข้าถึงเรื่องราวที่ถ่ายทอดอยู่บนกำแพง ซึ่งเป็นอารมณ์ของตัวศิลปินที่แสดงออกมาเป็นเรื่องราวที่มองเห็นได้ แผ่นกระจกที่โปร่งใสและถูกตัดอย่างหยาบๆ วางซ้อนกันเป็นชั้นๆ หลอดนีออนสีแดงเข้มจัดเรียงเป็นคำว่า “no more” อยู่บนผิวหน้า ภายนอกประดับด้วยแผ่นโลหะโปร่งแสงและเศษแก้วสีแดงที่แตกละเอียดกองอยู่ตรงด้านล่างของผนังกระจก ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นองค์ประกอบที่สะท้อนถึงความแข็งแรง แลดูมีพลัง

จากเศษกระจกสีแดงที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดแห่งเมืองเวนิส นครนิวยอร์กก็มี “ต้นไม้แห่งชีวิต” (The Tree of Life) ของ Marangoni เช่นกัน ซึ่งเพิ่งจะสร้างปรากฎการณ์สุดแปลกตาไปได้ไม่นานนัก บนถนนในย่านแมนฮัตตัน บริเวณบ้านเลขที่ 211 East 70th Street ด้านล่างที่พักของนักสะสม Willian และ Ophelia Rudin งานประติมากรรมสูง 17 ฟุตที่ดูคล้ายกับตู้คอนเทนเนอร์แนวตั้งขนาดใหญ่นี้ คือการเชื่อมแผ่นเหล็กสองแผ่นเข้าด้วยกัน แต่ละแผ่นถูกเจาะเป็นรูปทรงคล้ายต้นไม้ที่กำลังเติบโตเข้าหากัน ภายในตกแต่งด้วยหลอดไฟนีออนเรืองแสงสีเขียวสดใส ส่งสัญญาณเป็นนัยว่าจำนวนของต้นไม้กำลังลดลง แสงไฟจำลองในประติมากรรมชิ้นนี้ มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาในเมืองรู้สึกเหมือนกำลังทำงานท่ามกลางธรรมชาติที่ว่างเปล่า

Federica Marangoni คือศิลปินผู้สร้างสัญลักษณ์ด้วยแสง และยังเป็นผู้ที่สามารถสร้างสรรค์ทั้งสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ โดยใช้หลักการเปรียบเทียบที่เด่นชัดและเข้าถึงอารมณ์ของการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมปัจจุบัน ตลอดจนสะท้อนปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ เขาได้รังสรรค์ผลงานมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งได้กลายเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ศิลป์และการออกแบบ

ภาพ: ผลงาน “ต้นไม้แห่งชีวิต (Tree of life)” ปี 2007 ของ Federica Marangoni ที่ William and Ophelia Rudin Collection นิวยอร์ค ปี 2009 ทำจากแผ่นเหล็กสองแผ่นที่เจาะให้เป็นรูปต้นไม้มีหลอดไฟสีเขียวที่ขอบด้านใน มีขนาด 196.85×74.01×43.307 นิ้ว โดยรวมขนาดของหินที่เป็นฐานตั้ง (ถ่ายรูปโดย Tony Veccaro)


ที่มา : http://www.tcdc.or.th/travelmaterial.php?lang=en

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น