วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จะล้ำไปไหนเนี่ย ญี่ปุ่น

รายการ "สำรวจโลก" Explorer ช่องรายการสารคดี ๒๔ ชั่วโมงของ Nextstep Television ได้นำเสนอเรื่องราวเชิงเทคโนโลยีและวิศวกรรมตอนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงโครงการก่อสร้างที่โตเกียว เห็นแล้วน่าสนใจมาก ทันทีที่ได้ชมรายการนี้จนจบ ผมก็ลงมือเขียนต้นฉบับเรื่องนี้ขึ้นมาทันทีเลยครับ

Mercer สถาบันที่ปรึกษาการบริหารที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกาได้ทำการสำรวจเมืองใหญ่ๆของหลายประเทศกว่า 200 เมือง จาก 6 ทวีป โดยตั้งชื่องานวิจัยนี้ว่า "เมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2009" โดยที่การสำรวจนี้มุ่งเน้นพิจารณาข้อมูลจากค่าใช้จ่ายต่างๆในชีวิตประจำวันกว่า 200 รายการ อาทิเช่น ที่อยู่อาศัย ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายด้านบันเทิง อาหาร เสื้อผ้า และอื่นๆ ซึ่งผลสำรวจที่ออกมาก็พบว่าเมืองที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ ๑ ก็คือ "มหานครโตเกียว"แห่งญี่ปุ่นครับ


ภาพที่ ๑ โตเกียว เมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2009

และแน่นอนว่าญี่ปุ่นเองก็เจอและรู้เห็นปัญหานี้มานานก่อนที่ทาง Mercer จะทำการสำรวจเสียอีกเพราะประชากรร้อยละ ๑๐ ของประเทศญี่ปุ่น จำนวนกว่า ๑๒ ล้านคนต่างเข้ามาแออัด ยัดเยียดกันอยู่ที่กรุงโตเกียว ทว่า..เมืองที่เร่งรีบแห่งนี้ก็ยังได้รับความนิยมและถูกเลือกให้เป็น ๑ ใน ๕ เมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก! และแม้ว่าระบบขนส่งของที่นี่จะได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีความเร็วและระบบการบริหารจัดการให้ดีที่สุดเพียงใดก็ตาม แต่ปัญหาที่คนญี่ปุ่นกำลังประสบพบเจออยู่ ณ ปัจจุบันก็คือ เวลาที่ใช้ไปในการเดินทางนั้นก่อให้เกิดความสูญเสีย(MUDA)และเกิดค่าใช้จ่ายที่ยังมากอยู่ ซึ่งโดยธรรมชาติของคนญี่ปุ่นที่มักจะมีนิสัยชอบการปรับปรุง พัฒนาอะไรต่างๆอยู่เป็นนิจ ดังในคำในภาษาญี่ปุ่นที่เรียกว่า Kaizen (Continuous Improvement) ทำให้มีหลายคนกำลังฝันถึงบางสิ่ง..บางอย่างที่กำลังจะเข้ามาปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้นยิ่งกว่านี้

และนั่นเป็นที่มาของแนวความคิดที่จะสร้าง"เมืองในแนวตั้ง"อย่างกับที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ไซไฟ (Sci-Fi) อย่างเรื่อง The Fifth Element หรือ I-Robot กับสิ่งที่กำลังท้าทายวงการวิศวกรรมที่พวกเขาคิดฝันว่าจะ"ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้"

ภาพที่ ๒ โฉมหน้าของโครงสร้างมหัศจรรย์ที่กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการวิศวกรรม

Shimizu Group กลุ่มบริษัทออกแบบและก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของญี่ปุ่นได้นำเสนอโครงการ"สุดยอดอภิมหาเมกะโปรเจค" ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาตร์การสร้างเมืองของมนุษยชาติเพื่อมุ่งหน้าสู่โลกแห่งอนาคต ที่มีชื่อว่า "The Shimizu TRY Mega-City Pyramid" ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างเคหะสถานรูปทรงพีระมิดขนาดยักษ์ที่บรรจุเมืองขนาดย่อมๆทั้งเมืองเอาไว้ภายในโครงสร้าง ณ บริเวณอ่าวโตเกียว


ภาพที่ ๓ Concept Design ของมหาพิระมิดแห่งโตเกียว The Shimizu Mega-City Pyramid

โครงสร้างเบื้องต้นของ Mega-City Pyramid ที่ออกแบบไว้จะสูงกว่าปิรามิดแห่งอียิปต์ ที่เมืองกิซ่าอยากมากมาย โดยความสูงจะอยู่ที่ ๒,๐๐๔ เมตร หรือ ๒ กิโลมตรจากพื้นดิน และอัตราส่วนจะใหญ่โตกว่าถึง ๑๒ เท่าเลยทีเดียว ซึ่งจะมีแนวเส้นรอบวงชั้นฐานของอาคารขนาด ๒,๘๐๐ เมตร หรือมีพื้นที่ประมาณ ๒๕ ตารางกิโลเมตร ซึ่งถ้าหากโครงการนี้มีการก่อสร้างจริงแล้วล่ะก็ มันจะกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมาเลยล่ะครับ


ภาพที่ ๔ ลักษณะโครงสร้างของพิระมิดและตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์

ส่วนภายในตัวอาคารจะแยกเป็นสัดส่วน ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- พื้นที่สำหรับพักอาศัย ๒๔๐,๐๐๐ ยูนิต เพียงพอสำหรับรองรับประชากรได้ ๗๕๐,๐๐๐ คน
- พื้นที่เชิงพาณิชย์ ๒๔ ตารางกิโลเมตร รองรับคนได้ ๘๐๐,๐๐๐ คน
- พื้นที่สำหรับงานด้านวิจัยและพักผ่อนสันทนาการ ๑๔ ตารางกิโลเมตร
แต่ละอาคารจะมีแหล่งพลังงานของตัวเอง โดยมาจากแหล่งความร้อนของแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอต่อความต้องการของระบบ ดังนั้นไฟฟ้าอีกส่วนที่จ่ายเข้าสู่เมืองพิระมิดแห่งนี้จะมาจากพลังงานจากคลื่นที่อ่าว และการสกัดจากสาหร่ายชนิดหนึ่งที่จะมีพิ้นที่สำหรับสร้างไฟฟ้าที่บริเวณฐานของพิระมิด นอกจากนี้กระจกและพื้นที่บางส่วนของพีระมิดจะถูกเคลือบด้วยฟิล์มที่มีความบางในระดับนาโนเมตรซึ่งบรรจุเซลล์โฟโต้โวลตาอิก (Photovoltaic Cells) เอาไว้เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงแดดไปเป็นไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นแหล่ง พลังงานหลักของพีระมิดยักษ์แห่งนี้


ภาพที่ ๕ โครงสร้างฐานและตัวอาคาร

อีกประเด็นที่น่าสนใจของการออกแบบโครงการนี้คือ การเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงมาก จนมีการวิจัยทำวัสดุพิเศษเพื่อมาใช้เสริมให้กับเหล็กกล้าคือ คาร์บอน นาโนทิวส์ (Carbon Nanotubes)ซึ่งเป็นวัสดุที่มีโครงสร้างพื้นฐานของกราไฟท์ จะคล้ายกับโมเลกุลของเพชร และน่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของวงการโลหะการ (Metallurgy)ในปัจจุบัน


ภาพที่ ๖ อาคารและการคมนาคมขนส่งประชากร

ส่วนการเดินทางภายในตัวอาคาร ได้มีการออกแบบให้ใช้ทางเลื่อนความเร็วสูง(ประมาณ ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และลิฟท์ทางลาด รวมทั้งระบบขนส่งมวลชนภายใน ซึ่งไม่ต้องใช้คนขับ ส่วนพื้นที่สำนักงานและพักอาศัยซึ่งจัดทำเป็นอาคาร ๓๐ ชั้น มีระบบกันสั่นสะเทือนตั้งแต่ชั้นบนลงมาถึงชั้นล่างและยึดติดกับโครงสร้างพีระมิดด้วยเคเบิลทำจากนาโนทิวส์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น