วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

10 ประติมากรรมสุดเจ๋งผ่านความคิดของบรมครูรอบกรุงเทพ

มาดูกันว่า ประติมากรรม ทั้ง 10 ชิ้น ทั้งที่มีการติดตั้งไปแล้ว และยังไม่ปรากฎโฉมให้เราๆ ได้เห็นกันมีสิ่งใดบ้าง ติดตั้งที่ไหน และแต่ละชิ้นงาน สื่อความหมายเป็นอย่างไร ลองดูกันได้เลย....






ชิ้นที่ 1 ผลงานชื่อ "FRAME" ศิลปิน Mr. Bettino Francini ชาวอิตาเลียน นายกสมาคมประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อมโลก ติดตั้งไปแล้วที่บริเวณสวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร
แนวคิด : การถ่ายภาพด้วยกล้องจะสามารถเก็บภาพในกรอบที่จำกัด และการถ่ายภาพต่อเนื่องจะสามารถเก็บภาพที่แสดงถึง
ความเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี FRAME (เฟรม) ที่วางซ้อนในแนวตั้งและหักเหในทิศทางที่ต่อเนื่องกันให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว





ชิ้นที่ 2 ผลงานชื่อ "ต้นไม้แห่งชีวิต" ศิลปิน ผศ.อนิก สมบูรณ์ ศิลปินอาวุโส ติดตั้งไปแล้ว ที่บริเวณสวนลุมพินี เขตปทุมวัน
แนวคิด : ต้นไม้แห่งชีวิต หมายถึง ความรักที่มีให้กันและกันระหว่างสามี ภรรยา เป็นความรักที่ละเอียดอ่อน ความเข้าใจ ความเอาใจใส่
การทะนุถนอม จำเป็นต้องอยู่ในใจทั้งสองฝ่ายอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ที่ต้องคอยดูแล รดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย เพื่อให้ต้นไม้มีความแข็งแรงและเจริญเติบโต


ชิ้นที่ 3 ผลงาน "3 World" ศิลปิน รศ.เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินชั้นเยี่ยมติดตั้งไปแล้วที่ บริเวณ สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ
แนวคิด : ลักษณะของรูปทรงกลมที่เป็นลูกบอล เป็นรูปทรงสากล ให้ความหมายกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความหมายเจาะจงด้วยลักษณะเส้นรอบนอกที่วิ่งเป็นเส้นโค้งมาบรรจบกัน มีความหมายและให้ความรู้สึกไม่สิ้นสุด การกำหนดให้มีพื้นที่ว่างภายในรูปทรงโดยการเจาะด้วยเส้นตรงในแนวตั้ง แนวเฉียง และแนวนอน แล้วกำหนดขอบเขตของที่ว่างภายในให้ขนานกับเส้นรูปทรงภายนอกส่งผลให้รู้สึกเบาและเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวของโลกจะหมุนด้วยภายในและสภาวะภายนอกที่ผลักดันอยู่ตลอดเวลา



ชิ้นที่ 4 ผลงาน "สังคมแห่งความงอกงามของคุณธรรม" ศิลปิน อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ ติดตั้งไปแล้วที่ บริเวณสวนวชิรเบญทัศ
(สวนรถไฟ) เขตจตุจักร
แนวคิด : ขอให้มวลมนุษย์ร่วมกันปลูกพืชพันธุ์แห่งคุณธรรมให้เจริญงอกงามขึ้น โดยเริ่มจากตนเองแล้วแพร่ขยายให้กว้างขวางออกไป เป็นสิ่งแวดล้อมแห่งความดีและความงามเพื่อความสะอาด ความสวย ความสว่าง และความพอเพียงของการดำรงชีวิตในสังคม



ชิ้นที่ 5 ผลงาน "สุริยัน" ศิลปิน รศ.วิชัย สิทธิรัตน์ ศิลปินระดับนานาชาติ อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะเชิง สะพานพระปกเกล้าฝั่งธนบุรี เขตคลองสาน
แนวคิด : สุริยะ เป็นพลังที่ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตมากมายทั้งเล็กใหญ่ หลายพันธุ์และสูญสลายกลายสถานะตามสภาวะองค์ประกอบที่จะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ด้วยพลังที่มีในระบบสุริยะ
สุริยะ เป็นระบอบบอกเวลากลางวัน กลางคืน แก่สิ่งมีชีวิในการทำกิจกรรม มนุษย์รู้จักการเตือน การบอกกำหนดเวลาโดยใช้เสียงระฆังเตือนและบอกกล่าวให้เป็นที่เข้าใจร่วมกัน "สุริยัน"เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและเวลา





ชิ้นที่ 6 ผลงาน "กระจก" ศิลปิน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานสาทร เขตคลองสาน
แนวคิด : กระจกเงาได้นำมาใช้เพื่อกิจกรรมต่างๆที่ต้องการเห็นภาพสะท้อนที่สายตาไม่สามารถมองโดยตรงได้ ภาพสตรีในท่าทางส่องกระจกเป็นการแต่งหน้า
ทำผม เพื่อความสวยงามบนใบหน้า เป็นกิจกรรมที่เห็นเป็นประจำของผู้หญิงทุกคน ลักษณะรูปทรงที่เรียบง่าย ไม่มีลายละเอียด การตัดทอนเพื่อให้รู้สึกถึงความอ่อนนุ่ม เคลื่อนไหว และอ่อนหวานเหมือนกับสตรีผู้มีแต่ความงดงาม




ชิ้นที่ 7 ผลงาน "Protector" ศิลปิน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานสาทร
ถนนเจริญนคร เขตคลองสาน
แนวคิด : ความรักของแม่เปี่ยมด้วยความเมตตา กรุณา ปรารถนา ที่จะให้ทุกอย่างเพื่อลูกมีสุข แม่เพียรพยายามทั้งแรงกาย แรงใจ แม้จะแสนยากลำบากเพียงไร
ก็ไม่หวั่น คอยทะนุถนอม ปกป้องคุ้มครอง Protector เป็นรูปทรงผู้หญิงที่ตัดทอน แต่เน้นความอ่อนหวานของเส้นที่เป็นเส้นโค้ง เพื่อแสดงความรักที่มีต่อลูกได้อย่างลึกซึ้ง การโอบอุ้มในวงแขนอย่างนุ่มนวล คอยประคองไม่ให้เจ็บปวด







ชิ้นที่ 8 ผลงาน "The Moon" ศิลปิน อ.ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินระดับนานาชาติ อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธาณะหน้าวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร (ป้ายรถประจำทาง)
แนวคิด : ดวงจันทร์ที่อยู่บนท้องฟ้า ทั้งกลางวันและกลางคืนเราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในคืนดวงจันทร์เต็มดวง โดยจะมองเห็นได้ถึงพื้นผิวเหมือนรูปกระต่ายสีขาวที่มีชีวิต เรามองเห็นดวงจันทร์ตั้งแต่เเป็นรูปเสี้ยว ครึ่ง และเต็มดวงแต่ The Moon เป็นประติมากรรมรูปครึ่งวงกลมเมื่อมองด้านข้าง
และมีการวางทับกันเหมือนกับวาด วงเป็นเสี้ยวและกำลังเคลื่อนขึ้นไปเป็นภาพที่ชวนให้เกิดจินตนาการมากมาย





ชิ้นที่ 9 ผลงาน "ตะกร้อ" ศิลปิน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง
แนวคิด : ตะกร้อ เป็นกีฬาพื้นบ้านของไทย ผู้เล่นต้องใช้ความสามารถในการเล่น และจำเป็นต้องมีการฝึกมาอย่างดี ด้วยลักษณะท่าทางในการเล่นในแต่ละท่า แสดงให้เห็นถึงความสวยงามและมั่นคง ในการรับและการถ่ายเทน้ำหนัก






ชิ้นที่ 10 ผลงาน "ช้างต้นแบบ" ศิลปิน ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณ สวนรมณีนาถ เขตพระนคร
แนวคิด : ช้างเศวตฉัตร ตามประวัติศาสตร์เป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง เป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่ได้ปั้นสเก็ตเป็นต้นแบบเพื่อนำไปขยายประกอบการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ดอนเจดีย์และเพื่อการศึกษาโครงสร้าง สัดส่วน และกายวิภาคของช้างแก่ลูกศิษย์ในการเรียนช้างต้นแบบเชือกดังล่าว มีความสวยงาม ด้วยโครงสร้างที่เป็นช้างหนุ่มแสดงถึงลักษณะความแข็งแรง และความสง่างาม

ร่วมสัมผัสความงามผ่านประติมากรรมนานาไอเดีย จากสุดยอดการออกแบบของปรมาจารย์ชั้นบรมครูได้ ณ สวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ
มหานคร งานนี้จัดแสดงให้ชมฟรีตลอดกาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถ่ายรูปได้ซ้ำยังจับต้องพื้นผิวได้อีก แถมเพิ่มความสวยงาม แฝงด้วยคุณค่าของงานศิลปะที่ต้องใช้ใจสัมผัสเท่านั้น ถึงจะตีความหมายได้ตามที่ศิลปินได้รังสรรค์เอาไว้


ที่มา: http://www.kroobannok.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น