วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Green Design สวยง่ายๆ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม



การออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable design) หรือการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green design, Eco-design หรือ Design for the environment) นับเป็นกระแสหลักของการออกแบบยุคใหม่ที่นักออกแบบหลายต่อหลายคนต่างให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน กระแสที่ว่ากำลังได้รับความสนใจในหลายวงการไม่ว่าจะเป็นวงการสถาปัตยกรรม การออกแบบภูมิทัศน์ การออกแบบและวางผังเมือง วิศวกรรม การออกแบบกราฟฟิก การออกแบบอุตสาหกรรม การออกแบบภายใน หรือแม้แต่การออกแบบแฟชั่น

แท้จริงแล้ว ความหมายของการออกแบบอย่างยั่งยืนนั้นมีความเกี่ยวข้องตั้งแต่การออกแบบวัตถุขนาดเล็กไปจนถึงการออกแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างตึกรามบ้านช่อง หรือแม้แต่การสร้างเมือง สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และการบริการที่สอดคล้องกับกฎทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

การออกแบบอย่างยั่งยืนให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ให้น้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งยังพยายามเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติให้มากที่สุด โดยมุ่งสร้างวิถีการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน และช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกด้านต่างๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรที่เป็นผลให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลงอย่างมหาศาล การเสียภาวะสมดุลทางสิ่งแวดล้อม และการขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นการออกแบบที่ยั่งยืนจึงนับเป็นวิธีการในการคงคุณภาพชีวิตอันสมบูรณ์ ด้วยวิธีการออกแบบอันชาญฉลาดเพื่อทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมดังเช่นในอดีต อาจพูดได้ว่า การออกแบบอย่างยั่งยืนนี้ไม่ได้เป็นเพียงส่วนเสริมของการออกแบบสถาปัตยกรรม แต่กลายเป็นกระบวนการสำคัญของศาสตร์และศิลป์แห่งการออกแบบเกือบทุกแขนงไปเป็นที่เรียบร้อย

และด้วยความนิยมในเรื่องการออกแบบเพื่อความยั่งยืนนี้ จึงทำให้นักออกแบบทั่วโลกพากันตื่นตัวและพยายามสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ไจเม่ ซาล์ม นักออกแบบหนุ่มสัญชาติโคลัมเบีย ผู้ร่วมสร้างคำจำกัดความของความทันสมัยให้กับสังคมเมืองในศตวรรษที่ 21 ในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของบริษัทดีไซน์ MIO ในฟิลาเดลเฟีย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองของนักออกแบบและผู้ผลิตให้หันมาพิจารณาวัตถุดิบและกระบวนการผลิตเสียใหม่ รวมถึงความต้องการผลักดันให้ผู้บริโภคมองความสัมพันธ์ของตนเองกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในประจำวันด้วยมุมมองใหม่โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทำให้ไจเม่กลายเป็นนักออกแบบเจ้าของผลงานอันโดดเด่นที่นอกจากจะมีเทคนิคการออกแบบอันล้ำสมัยแปลกตา และหน้าที่ใช้สอยที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างลงตัวสมบูรณ์แบบแล้ว ชิ้นงานสร้างสรรค์ของไจเม่ทุกชิ้นยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักทฤษฎีเพื่อการอนุรักษ์ของบริษัทที่เรียกว่า Green Desire ซึ่งช่วยให้โลกธุรกิจและสังคมศิลป์มาบรรจบกันตรงคำว่า “โลกสีเขียว” ได้อย่างลงตัว

ผลงานสีเขียวที่ทำให้คนทั่วโลกยอมรับแนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืนของไจเม่นั้น เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้กระดาษลังบรรจุไข่ไก่ไปผลิตเป็นวอลล์เปเปอร์แบบสามมิติ “V2” อันโด่งดัง, เก้าอี้มากประโยชน์ใช้สอยที่ทำจากยางรถยนต์เก่า กระดาษใช้แล้วกองโต หรือสมุดโทรศัพท์เก่าๆ, โคมไฟดีไซน์เก๋ที่ทำจากเศษโลหะ และยังมีของตกแต่งบ้านหลายรูปแบบที่ทั้งสวยงามและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างตรงจุด ผลงานทั้งหมดของไจเม่ล้วนเกิดจากรากฐานของแนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น















ที่มา : http://www.tcdc.or.th/articles.php?lang=en&act=view&id=35

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น