วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

พระราชวังสนามจันทร์

ที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีอยู่หลายที่ เช่น พระราชวังมฤคทายวัน จ. เพชรบุรี, พระราชวังพญาไท กรุงเทพฯ "พระราชวังสนามจันทร์" ก็เป็นอีกแห่งซึ่งเป็นประทับของพระองค์ท่าน ที่มีความงดงามไม่แพ้พระราชวังอื่นๆ เลย อยากรู้ว่าที่นี่สวยงามขนาดไหนล่ะก็... ตามทีมงาน "นายรอบรู้" (น้อย) มาเลย
พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ จ. นครปฐม ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 56 กิโลเมตร ที่ตั้งเดิมนั้นอยู่


ในบริเวณที่เรียกว่าเนินปราสาท สันนิษฐานว่าเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณ ใกล้กับเนินปราสาทมีสระน้ำใหญ่ชื่อว่า "สระน้ำจันทร์" ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่าสระบัว อยู่หน้าโบสถ์พราหมณ์ ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้นยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างที่ประทับขึ้น ณ เมืองนครปฐม สำหรับที่ประทับแปรพระราชฐานในโอกาสเสด็จฯ มาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ และเพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ทรงเลือกจังหวัดนครปฐม ด้วยเหตุที่ทรงคุ้นเคยกับภูมิของเมืองนี้ ทรงเห็นว่าบริเวณเนินปราสาทนั้นเป็นทำเลที่เหมาะ จึงทรงขอซื้อที่ดินจากราษฎรที่อยู่รอบๆ เนินปราสาทเพื่อสร้างพระราชวัง รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 888 ไร่ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์มานพ เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2450 และแล้วเสร็จในปี 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า "พระราชวังสนามจันทร์"

ที่นี่นอกจากจะเป็นที่แปรพระราชฐานแล้ว พระองค์ยังมีพระราชดำริในการสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้เป็นที่มั่นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤติการณ์ของประเทศอันเกิดขึ้นได้ เพราะพระราชวังสนามจันทร์ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม และทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับซ้อมรบเสือป่า

ปัจจุบันพระราชวังสนามจันทร์อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งภายในมีสิ่งน่าสนใจมากมาย

เมื่อเดินผ่านซุ้มจำหน่ายบัตรเข้าไป ด้านซ้ายมือคือบริเวณของ "พระตำหนักทับขวัญ" ซึ่งเป็นเรือนไทยที่สมบูรณ์แบบ นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่องสร้างคือพระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ ภายในพระตำหนักแห่งนี้ประกอบด้วยกลุ่มเรือน 8 หลัง ได้แก่ เรือนใหญ่ 4 หลัง เรือนเล็ก 4 หลัง ซึ่งได้สร้างให้หันหน้าเข้าหากัน 4 ทิศ เรือนใหญ่เป็นหอนอน 2 หอ ส่วนอีก 2 หลัง เป็นเรือนโถง และเรือนครัวซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนเรือนเล็ก 4 หลังนั้นตั้งอยู่ตรงมุม 4 มุม มุมละ 1 หลัง ได้แก่ หอนก 2 หลัง เรือนคนใช้ และเรือนเก็บของ โดยที่เรือนทุกหลังมีชานเชื่อมกันโดยตลอด บริเวณกลางชานยังมีต้นตันให้ให้ร่มเงาอีกด้วย

พระตำหนักทับขวัญเป็นเรือนไม้กระดาน ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก ฝีมือประณีต เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม ตัวเรือนทุกหลังทำด้วยไม้สักล้วน ใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับของชาวไทยโบราณ นอกจากนี้ที่บริเวณรอบๆ เรือนไทยยังปลูกไม้ไทยชนิดต่างๆ นับเป็นเรือนไทยที่อยุ่ในประเภทของคหบดีและมีส่วนประกอบครบ

ถัดมาจากพระตำหนักทับขวัญ ก็จะเป็นที่ตั้งของ "พระตำหนักมารีราชบัลลังก์" ซึ่งเป็นพระตำหนัก 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศเมืองร้อน โดยที่ชั้นบนของพระตำหนักนี้มีสะพานเชื่อมกับ "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์" ซึ่งสะพานดังกล่าว หลังคามุงด้วยกระเบื้อง และติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้านตลอดความยาวของสะพาน โดยที่หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ

แล้วทีมงาน "นายรอบรู้" (น้อย) ก็เดินข้ามสะพานไปยัง "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์" พระตำหนักแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าว่าสวยงามที่สุดในบรรดาพระตำหนักทั้งหมด เพราะเป็นพระตำหนักที่มีลักษณะคล้ายปราสาทขนาดย่อม มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ของฝรั่งเศส กับอาคารฮาล์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ พระตำหนักนี้มีสองชั้น ทาสีไข่ไก่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง ยามที่แสงแดดส่องมากระทบ ทำให้พระตำหนักแห่งนี้ดูงดงามยิ่งนัก

และที่บริเวณด้านหน้าของพระตำหนักองค์นี้ยังเป็นที่ตั้งของ "อนุสาวรีย์ย่าเหล" สุนัขพันธ์ทางหางเป็นพวง สีขาวด่างดำ หูตก เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เป็นสุนัขของหลวงชัยอาญา (โพธิ์ เคหะนันท์) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมนักโทษอยู่ในขณะนั้น เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสชมว่าน่ารัก ต่อมาหลวงชัยอาญา จึงน้อมเกล้าฯ ถวาย จึงทรงรับมาเลี้ยง และพระราชทานามว่า"ย่าเหล"

"ย่าเหล" ได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในราชสำนักใกล้ชิดพระยุคลบาท มีความเฉลียวฉลาดและมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์เป็นอย่างมาก ต่อมา "ย่าเหล" ได้พลัดถูกลูกกระสุนซึ่งทหารผู้หนึ่งได้ยิงออกมา ย่าเหลจึงถึงแก่ความตาย

การสูญเสียย่าเหลในครั้งนั้นสร้างความเศร้าสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพ "ย่าเหล" เป็นอย่างดี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ "ย่าเหล" ขึ้นด้วยโลหะทองแดง ณ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ และพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัย ไว้บนแผ่นทองแดงใต้อนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย

เยื้องอนุสาวรีย์ย่าเหล เราจะพบกับ "เทวาลัยคเณศร์" ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลเทพารักษ์สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่ประดิษฐานพระคเณศร์หรือพระพิฆเนศวร เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้าง ซึ่งเป็นเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ การประพันธ์และผู้ขจัดอุปสรรคทั้งมวล นอกจากนี้พระพิฆเนศวรยังเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย









เดินเลยจากเทวาลัยคเณศร์ขึ้นไป ด้านซ้ายมือจะเป็น "พระที่นั่งพิมานปฐม" ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2450 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นแบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้เหมาะกับเมืองร้อน ช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงโดยรอบฉลุฉลักเป็นลวดลายตามแบบไทยอย่างประณีตงดงาม พระที่นั่งองค์นี้ประกอบด้วยห้องต่างๆ ได้แก่ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย และห้องพระเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา และยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งงดงามน่าชมมาก

และส่วนสุดท้ายของการเดินชมวังในวันนี้คือส่วนของ "พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์" พระที่นั่งองค์นี้เชื่อมต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา โดยมีโถงใหญ่และหลังคาของพระที่นั่งทั้งสององค์เชื่อมติดต่อกัน เครื่องประดับตกแต่งหลังคาเหมือนกัน หน้าบันอยู่ทางทิศเหนือเป็นรุปจำหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพร แวดล้อมด้วยบริวาร ประกอบด้วยเทวดาและมนุษย์ห้าหมู่








พระที่นั่งองค์นี้ทรงใช้เป็นที่ออกงานสโมสรสันนิบาต เสด็จฯ ออกขุนนางเพื่อปรึกษาหารือข้อราชการ เป็นที่อบรมกองเสือป่า และใช้เป็นที่แสดงโขนละครต่างๆ ปัจจุบันที่นี่ใช้เป็นที่การแสดงนาฏศิลป์ไทย โดยจัดแสดงวันละ 2 รอบ คือเวลา 10.30 และ 14.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น