วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553


ประวัติความเป็นมา
อาคารหินอ่อนศิลปะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกหลังนี้ เริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2450 ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รับรองแขกเมือง และใช้สำหรับประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ภายหลังจากที่สร้างพระที่นั่งอัมพรสถานในเขตพระราชวังดุสิตเสร็จแล้วในปี พ.ศ.2449 โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง ให้นาย มาริโอ ตามาโย สถาปนิกชาวอิตาลีเป็นนายช่างออกแบบ ให้ศาสตราจารย์ แกลิเลโอ คินี และ นาย ซี. ริกุลี เป็นช่างเขียนภาพ
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ ภายนอกประดับด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากประเทศอิตาลี องค์พระที่นั่งเป็นอาคารหินอ่อนสองชั้น มีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็ก ๆ โดยรอบอีก 6 โดม ชั้นบนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ แบ่งเป็นท้องพระโรงหน้าและท้องพระโรงหลัง บนเพดานโดมของพระที่นั่ง มีภาพเขียนสีปูนเปียกขนาดใหญ่ที่สวยงามจำนวน 6 ภาพ แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 6 โดยฝีมือเขียนภาพของศาสตราจารย์แกลิเลโอ คินี และนาย ซี.ริกุลี
การก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ได้ดำเนินการจนสำเร็จบริบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2458 รวมใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี งบประมาณค่าก่อสร้างตามราคาในสมัยนั้นคิดเป็นเงิน 15 ล้านบาท

ไปชมพระที่นั่งอนันฯ
พระที่นั่งอนันฯ ตั้งเด่นสง่างามอยู่ปลายถนนราชดำเนิน เขตดุสิต ในอาณาบริเวณเดียวกับพระที่นั่งวิมานเมฆ ใกล้กับพระบรมรูปทรงม้า สวนอัมพร และสวนสัตว์ดุสิต เขาดินวนา ส่วนมากเรามักจะมองเห็นด้านหน้าของพระที่นั่ง จากทางลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ประตูทางเข้าชมจะอยู่ด้านหลัง ซึ่งจะเข้าได้จากทางถนนอู่ทองใน ตรงข้ามเขาดิน หรือทางถนนราชวิถี คือเข้าผ่านทางพระที่นั่งวิมานเมฆแล้วเดินชมพระที่นั่งอื่นมาเรื่อย ๆ แต่ถ้ามีเวลาไม่มากและต้องการชมพระที่นั่งอนันฯ อย่างเดียว แนะนำให้เข้าประตูทางฝั่งถนนอู่ทองใน (ที่เขียนว่า พระที่นั่งอภิเศกดุสิต) เพราะเดินนิดเดียวก็ถึงองค์พระที่นั่งแล้ว

เราสามารถถ่ายรูปได้แค่ตรงประตูทางเข้าเท่านั้น เมื่อเดินเข้าไปข้างในพ้นประตูไปแล้ว จะไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปได้อีก ภาพภายในต่อจากนี้ได้มาจากแผ่นพับและเอกสารนำชมพระที่นั่งในวาระต่าง ๆ ที่ทางเว็บไซต์รวบรวมมาได้

ภาพเขียนสีปูนเปียกขนาดใหญ่บนเพดานโดมทั้งหก ที่เป็นฝีมือของนาย ริกุลี ช่างภาพชาวอิตาลีก็เป็นอีกจุดที่น่าสนใจ เป็นภาพแสดงเหตุการณ์สำคัญในพระราชพงศาวดาร หกรัชกาลแรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งมีแนวทางการวาดภาพ การใช้สีแสงเงาตามแบบจิตรกรรมตะวันตกที่ดูมีมิติ แตกต่างกับจิตรกรรมไทยดั้งเดิมที่เน้นการเขียนลายเส้นสวย ๆ ให้สีแบน ๆ ภาพเขียนชุดนี้ นายริกุลีได้ทดลองร่างขึ้นก่อนเขียนจริง ต้นฉบับงานร่างนั้น ทุกวันนี้ยังคงเก็บรักษาไว้ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ในบริเวณพระราชวังดุสิตนี้เช่นกัน

พระที่นั่งอนันฯ นี้ ในครั้งแรกทีเดียว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้สอยในฐานะเป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิต เช่น เป็นมงคลสถานจัดงานพระราชพิธี หรืองานพระราชทานเลี้ยงในวโรกาสสำคัญต่าง ๆ ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งอนันฯ เป็นที่ประชุมรัฐสภาของชาติ ต่อมาภายหลัง แม้ว่าจะมีการก่อสร้างห้องประชุมของรัฐสภาขึ้นใหม่ที่บริเวณถนนอู่ทองในแล้ว รัฐสภาก็ยังได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้ใช้พระที่นั่งอนันฯ ต่อไปในฐานะอาคารรัฐสภาของชาติ ทุกคราวที่มีรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภาก็ดี พระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีก็ดี รัฐสภาก็ได้ใช้พระที่นั่งอนันฯ เป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีและรัฐพิธีเสมอมา

ปัจจุบัน พระที่นั่งอนันฯ ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดนิทรรศการถาวร "ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5 " แสดงผลงานศิลปะหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยเป็นการนำเสนอผลงานชิ้นสำคัญที่วิจิตรงดงามจากฝีมือของนักเรียนจากโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา อาทิเช่น พระที่นั่งพุดตานถมทอง พระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง เรือพระที่นั่งจำลองศรีสุพรรณหงส์ บุษบกห้ายอดไม้แกะสลัก ฉากผ้าปักป่าหิมพานต์ ฉากไม้แกะสลักตำนานเพชรรัตน์ ฯลฯ รวมไปถึงผลงานที่เคยจัดแสดงในงานศิลป์แผ่นดินครั้งที่ผ่าน ๆ มา โดยเริ่มเปิดให้เข้าชมมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2551 แล้ว นับเป็นโอกาสอันดี สำหรับท่านที่ชื่นชอบในการชมความงดงามทางสถาปัตยกรรม ความวิจิตรบรรจงภายในขององค์พระที่นั่ง ที่จะได้ชมงานศิลปะหัตถกรรมชั้นสูงควบคู่กันไปด้วย พระที่นั่งอนันฯ เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน ปิดวันจันทร์ วันหยุดเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ ทางผู้จัดทำมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ศิลปะความสง่างามขององค์พระที่นั่งอนันตสมาคม ให้กับผู้ที่สนใจ ผู้ที่คิดจะมาชม หรือผู้ที่ไม่มีโอกาสมาชมด้วยเหตุผลบางประการ ศิลปะสมบัติเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสมบัติของใครคนใดคนหนึ่งแต่ลำพัง หากแต่เป็นสมบัติศิลป์ของแผ่นดินไทยและของคนไทยทุกคนร่วมกันภาคภูมิใจ.

1 ความคิดเห็น: