วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

Lilypad Floating City @ Dubai สุดยอดนวัตกรรมเมืองลอยน้ำ..




สมใจคนชอบ Experimental Design สำหรับนวัตกรรมการออกแบบเมืองลอยน้ำ
" ลิลี่แพด" ( Lilypad City) บ้านใหม่แห่งอนาคตที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ในการ
ช่วยเหลือคนทั้งโลกที่ต้องการลี้ภัยน้ำท่วมอันเกิดจากวิกฤติโลกร้อน ที่กำลังคุกคามอย่างรุกคืบ
จากความคิดอันเฉียบคมของ วินเซนต์ คาเลโบต์ สถาปนิกคนเก่งจากเบลเยียม

การออกแบบเมืองนี้ คาเลโบต์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของ
ใบบัวขนาดใหญ่ อะมาโซเนีย วิคตอเรีย เรเจีย ลิลี่แพด ที่มีลักษณะเป็นใบกว้างลอย
อยู่เหนือน้ำคอยรองรับน้ำฝนและฟอกน้ำให้สะอาด โดยคาเลโบต์ได้ออกแบบให้
เมืองนี้ เข้าออกด้วยท่าจอดเรือที่มีอยู่ 3 ทาง และมีภูเขา 3 ลูก เพื่อให้ผู้คนที่อยู่บน
เมืองลอยน้ำแห่งนี้ได้เพลิดเพลินกับการเปลี่ยน วิวทิวทัศน์ ไม่ซ้ำซากจำเจ




สำหรับสภาวะแวดล้อมของเมืองนั้น วินเซนต์ได้ออกแบบให้ทั้งเมืองปกคลุมไปด้วยต้นไม้
ที่ปลูกอยู่ด้านบน โดยมีเป้าหมายของการสร้างอยู่ที่การสร้างความกลมกลืนในการอยู่
ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ลิลี่แพดจะเป็นเมืองที่เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี
มีลักษณะเป็นเมืองสะเทินน้ำสะเทินบกที่ไม่จำเป็นต้องมีรถหรือมีถนนใดๆ
สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อน
จากสถานการณ์น้ำท่วม อย่างรุนแรงได้เป็นอย่างดี โดยจะลอยตัวอยู่ในทะเลบริเวณ
ผิวดินเดิมที่ถูกน้ำท่วมมิด
กล่าวคือเป็นเมืองที่ลอยอยู่ทั่วโลกเหมือนเรือยักษ์ หรือลอยไปตามกระแสน้ำไหลของมหาสมุทรทั่วโลก



ที่สำคัญคือพลังงานที่ใช้ในเมืองจะมาจากแหล่งพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่
รวมถึงการใช้พลังงานจากธรรมชาติอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อน พลังงานลม
พลังงานน้ำ และพลังงานคลื่น

โดยพลังงานที่ได้ทั้งหมดจะมากเกินความจำเป็นที่คนทั้งเมืองต้องการใช้
แถมยังไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด ขณะที่ขยะก็จะถูกนำไปรีไซเคิล






แน่นอนว่าความคิดอันน่าชื่นชมของวินเซนต์สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ
ด้านการออกแบบเมืองแห่งอนาคตมาครองได้เป็นผลสำเร็จ
ทั้งยังเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่สอดรับกับการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ
ที่ว่าน้ำแข็งจะละลายเพราะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึง 88 เซนติเมตร (เกือบ 3 ฟุต)
ภายในปี 2643 และจะเกิดภัยคุกคามต่อพื้นที่ขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่ง
รวมทั้งเมืองใหญ่ๆ ของโลก เช่น กรุงลอนดอนในอังกฤษ นครนิวยอร์กในสหรัฐฯ และกรุงโตเกียวในญี่ปุ่น





โดยเฉพาะเมืองที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 50 เซนติเมตร และเกาะน้อยใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก
เช่น เกาะตูวาลู เกาะคิริบาติ หรือเกาะมัลดีฟส์ ซึ่งหากน้ำทะเลสูงขึ้นเพียง 50 เซนติเมตร
พื้นที่ของเกาะก็จะถูกคลื่นทะเลซัดกร่อน หรือจมอยู่ใต้น้ำ

หรือแม้บางเกาะจะอยู่เหนือทะเลได้ แต่ประชากรในพื้นที่คงต้องเผชิญกับปัญหาน้ำดื่มขาดแคลนกันน่าดู
เพราะน้ำทะเลรุกล้ำเข้ามายังแหล่งน้ำจืด อันเป็นคลื่นกระทบต่อชีวิตผู้คนหลายสิบล้านคน
ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งในเอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา
บังกลาเทศ พม่า รวมทั้งประเทศไทยด้วย





นับเป็นแนวคิดที่ล้ำสมัยที่เมืองไทยน่าจะมีผู้นำมาปรับใช้บ้าง
เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า อีกประมาณ 30 ปี น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
งานนี้เห็นทีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคงต้องพักรบ สงบใจ หันหน้าปรองดองกันเพื่อทุกชีวิตในประเทศไทยบ้างแล้ว







เครดิตจาก http://www.alepaint.com/webboard/index

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น