วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน


สายไฟ   สายไฟจะเป็นตัวส่งไฟฟ้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ผ่านโลหะที่อยู่ภายใน โดยอยู่ในรูปของกระแสไฟฟ้า  ดังนั้นข้อสำคัญ คือสายไฟจะต้องห่อหุ้มด้วยฉนวนที่ดีจะได้ไม่เกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว ฉนวนอาจจะทำจาก ยาง หรือ พลาสติกพีวีซี ก็ได้  เราต้องหมั่นดูแลและคอยสังเกตสายไฟ ( ถ้าสายไฟไม่ได้ถูกซ่อนอยู่เหนือฝ้าหรืออยู่ภายในผนัง ) ไม่ให้เกิดความชำรุดเสียหายเพราะอาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ในบ้าน  เกิดความเสียหายแก่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า จนกระทั่งเกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนของเราได้ค่ะ








สะพานไฟหรือ คัทเอาท์  อุปกรณ์ชนิดนี้เหมือนกับเป็นสวิตช์ใหญ่ประจำบ้าน เพราะเป็นตัวควบคุมการเปิดและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน เราสามารถใช้สะพานไฟควบคุมวงจรไฟฟ้าในแต่ละส่วนของบ้านได้ ปัจจุบันสะพานไฟจะเป็นตัวตัดกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านวงจรไฟฟ้า ในกรณีที่เกิดการใช้งานเกินกำลัง เพราภายในจะมีฟิวส์เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในพื้นที่ควบคุมของมันไม่ชำรุดเสียหายอีกด้วย






ฟิวส์ เป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญมากเพราะว่าจะช่วยป้องกันอันตรายจากการใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพราะถ้าเราใช้ไฟเกินอุปกรณ์เล็ก ๆ ชิ้นนี้ก็จะหลอมละลาย ช่วยให้ไฟฟ้าในบ้านของเราไม่ลัดวงจร ฟิวส์มีหลายแบบตั้งแต่แบบเส้นลวด แบบขวดกระเบื้อง  แบบแผ่น แบบหลอดแก้ว แต่ในปัจจุบันมีฟิวส์แบบอัตโนมัติ 






สวิตช์ ใช้เป็นตัวควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เปิดและปิด ได้ตามที่เราต้องการ โดยสวิตช์จะควบคุมกระแสไฟฟ้าให้ไหลผ่านเข้าไปในอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่เราจะใช้นั่นเอง สำหรับอุปกรณ์หลาย ๆ ชนิดเช่นดวงโคม สวิตช์ของมันบางทีอาจจะติดอยู่กับตัวมันหรืออาจจะติดอยู่บนผนัง  ส่วนพัดลมบางชนิดก็มีสวิตช์ติดอยู่ที่ตัวมันเองเลย หรือถ้าเป็นพัดลมแบบแขวนผนังตัวสวิตช์ก็จะอยู่ตามผนัง พูดง่าย ๆ ก็คือสวิตช์จะอยู่ในจุดที่เราสามารถเข้าไปเปิดใช้งานและปิดเมื่อไม่ใช้งานได้อย่างสะดวกนั่นเอง 







เต้ารับและเต้าเสียบ   อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิด จะมีเต้าเสียบอยู่กับตัวเพื่อเวลาที่เราจะใช้งานจะต้องนำไปเสียบเข้ากับเต้ารับ ที่อยู่ตามผนังภายในบ้านของเรา  อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิด มีทั้งเต้าเสียบและสวิตช์ไฟเพื่อควบคุมการใช้งาน เช่น พัดลม โคมไฟ โทรทัศน์  ทำให้เราสามารถเปิดปิดการใช้งานได้ง่าย แต่ที่สำคัญคือควรจะดึงเต้าเสียบออกเมื่อเลิกใช้งานแล้ว เพื่อไม่ให้กระแสไฟไหลเข้ามาและยัง เป็นการช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าอีกด้วย

ข้อสำคัญอีกข้อก็คือ เราไม่ควรจะเสียบเต้าเสียบหลาย ๆ อันเข้ากับเต้ารับอันเดียวกัน เพราะจะทำให้เกิดความร้อนสูง ทำให้เกิดไฟฟ้าช็อต จากการใช้ไฟเกินได้ ดังนั้นในบ้านของเราจะต้องมีเต้ารับหลาย ๆ จุด ตามตำแหน่งที่เราจะต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ใช้งาน  และควรติดให้อยู่สูงจากพื้นเพื่อกันน้ำท่วม และ ให้พ้นจากมือเด็กด้วย  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของทุคนในบ้านท่านนั่นเอง







นอกจากอุปกรณ์การใช้งานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพื้นฐานที่กล่าวถึงไปแล้วยังมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าอีกหลายอย่าง และที่มีกันอยู่แทบจะทุกบ้านในตอนนี้ ก็คือระบบระบบโทรศัพท์   ซึ่งในปัจจุบันมีโทรศัพท์ออกมาหลายรูปแบบแถมยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือระบบโทรศัพท์มีหน้าที่เพื่อช่วยในการสื่อสาร ซึ่งจะต้องมีการติดตั้งปลั๊กโทรศัพท์ สำหรับการแลกเปลี่ยนสัญญาณเสียงผ่านทางสายคู่ทองแดง ดังนั้นในการติดตั้งปลั๊กโทรศัพท์เราต้องคิดถึงตำแหน่งการใช้งานให้ดี เพื่อให้เกิดความสวยงามกับบ้านของเรา 







 นอกจากระบบโทรศัพท์ที่มีอยู่เกือบทุกบ้านแล้ว  ระบบสัญญาณกันขโมยเป็นอีกระบบหนึ่งที่นอกจาจะมีในอาคารประเภทห้างร้านหรือสำนักงานแล้ว ปัจจุบันถูกนำเข้ามาใช้กันมากขึ้นในบ้านพักอาศัย โดยระบบที่ใช้สำหรับบ้านจะแตกต่างจากระบบกันขโมยของรถเพราะว่าบ้านมีพื้นที่เฝ้าระวังมากกว่า และเพื่อป้องกันการตรวจจับที่ผิดพลาด อย่างเช่นมี สัตว์เดิน หรือมีบางสิ่งเคลื่อนไหวผ่านจุดตรวจจับ ระบบจึงต้องมีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น 

เมื่อตรวจจับการงัดแงะได้ สัญญาณจะถูกส่งไปให้อุปกรณ์ควบคุมหลัก ให้เกิดการเตือนภัยผ่านทางสัญญาณเสียง  แสง และบางชนิดจะมีการจ้างเตือนทางโทรศัพท์เข้าไปยังเจ้าของบ้านหรือไปยังเบอร์ฉุกเฉินที่เราตั้งเอาไว้ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนระบบนี้จะช่วยเราเฝ้าระวังได้เป็นอย่างดี 





ที่มา : http://www.forfur.com/blog/detail/216

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น