วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553
ลูกยางดีไซน์ นวัตกรรมที่เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับชีวิต
ประเทศไทยมีสวนยางพารามากมายทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออก มีผลผลิตเป็นน้ำยางแผ่นแปรรูปส่งออกมากมายในฐานะวัตถุดิบ แต่ยังไม่เคยมีใครนำน้ำยางพารามาวิจัย เพื่อให้เป็นมากกว่ายางแผ่น ผู้ที่เห็นช่องทางและมีความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งความยืดหยุ่นนี้ คือคุณนพชัย ภู่จิรเกษม ลูกหลานเจ้าของสวนยางพารา ในจังหวัดตรัง
เมื่อคุณนพชัยมาเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เขาเลือกวัสดุยางพาราขึ้นมาศึกษา เพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เขาคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก เขาวิจัยวัสดุตัวนี้อยู่ 3 ปี ในระหว่างการค้นคว้าและทดลองก็ได้รับรางวัลเรื่อยมา อาทิ Innovation Award, ทุนวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, รางวัลจากแมกกาซีน I – design, รางวัล Design Innovation Contest ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ Designer of the Year ของกรมศิลปากร
คุณนพชัยเริ่มต้นงานนี้ด้วยอยากให้คนทั่วไปและชาวบ้านเห็นถึงการเพิ่มมูลค่าของวัสดุที่มีอยู่ สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์จากน้ำยางพารานี้ เขามีแนวคิดหลักคือ ความยืดหยุ่น ซึ่งไม่ใช่แค่ความยืดหยุ่นของวัสดุ แต่เป็นความยืดหยุ่นของวิถีชีวิตและการแก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่น เขาเล็งเห็นว่าในปัจจุบัน เราสร้างทรัพยากรใหม่ไม่ได้แล้ว ดังนั้น เราต้องสร้างวัสดุที่รักษาทรัพยากรที่มีอยู่
“อย่างถ้าเป็นวัสดุไม้ ซึ่งได้จากการตัดป่า นั่นคือความสูญเสีย เพราะการปลูกย่อมไม่ทันต่อการตัดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไม้เศรษฐกิจ ก็ต้องใช้พลังงานในการแปรรูป ซึ่งสูญเสียไปอีก ส่วนกรณีของน้ำยางพารา เราไม่ได้ตัดไม้ แต่เรากรีดยางออกจากต้น ถ้าต่อไปเราใช้วัสดุตัวนี้มากขึ้น แล้วต้นยางมีไม่พอ เราก็ต้องปลูกเพิ่ม นั่นก็จะเป็นสวนยาง กลายเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น ผมมองวัสดุนี้ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ผมเป็นลูกชาวสวนจึงเรียนรู้สิ่งต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก”
“ในช่วงที่ผมวิจัยน้ำยาง เราหาวิธีที่จะทำให้ยางคงรูปได้โดยไม่ใช้สารเคมี สิ่งที่เราได้มาต่อจากนั้น คือความคงทนของวัสดุจะอยู่ที่ประมาณ 5 ปี ส่วนสี หากเป็นการใช้ภายนอกย่อมมีการซีดลง แต่ไม่เกิน 10 % รับน้ำหนักได้ราว 100 กิโลกรัมถึงมากที่สุด 150 กิโลกรัม และมีแบบพิเศษที่รองรับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม ส่วนถ้าจะเติมกลิ่นหอมก็เติมได้ แต่จะทำให้ยางไม่คงทน เป็นต้น”
คุณนพชัยเปิดตัวเฟอร์นิเจอร์ยางพารา ภายใต้ชื่อลูกยางดีไซน์ (lookyangdesign.com) ในปี 2008 ด้วยคอลเลกชั่นแรกคือ เก้าอี้ลูกยางที่นำรูปทรงมาจากลูกยางจริงๆ และเก้าอี้รุ่น Spider, Webber และตอยาง ที่เน้นยางพาราเป็นตัวรับน้ำหนักและให้ความยืดหยุ่นอยู่บนโครงสร้างสแตนเลส ซึ่งเก้าอี้เหล่านี้ก็กลายเป็น 1 ในดาวเด่นของวงการเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ ที่ไปปรากฏตัวในงานแสดงและนิตยสารต่างๆ
แนวคิดหลักของลูกยางดีไซน์คือความยืดหยุ่น โดยเน้นออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แสดงและใช้ความยืดหยุ่นเป็นจุดขาย เช่น เก้าอี้ที่นั่งแล้วปรับไปตามสรีระของผู้นั่ง หรือของแต่งบ้านอื่นๆ ที่มีการยืดให้องศาที่อิสระเป็นหน้าที่หลัก
ในส่วนของการสร้างแบรนด์ลุยตลาด คุณนพชัยยอมรับว่ายังมีประสบการณ์น้อยด้านการตลาด เพราะจากเดิมอยู่กับงานวิจัยและออกแบบ (แถมยังแบ่งเวลาไปให้ความรู้ด้านนี้กับนักศึกษาและชาวบ้านอีกด้วย)
“ก็ต้องเรียนรู้กันไปครับ แต่โชคดีที่สินค้านี้ได้รับรางวัลต่างๆ รับรอง ผู้บริโภคเองก็เห็นแล้วสะดุดตา ทั้งดีไซน์และวัสดุที่แปลกใหม่ ตอนนี้ผมมีกลุ่มลูกค้าอยู่แถวสแกนดิเนเวีย และกำลังขยายตลาดเพิ่มไปทางดูไบและตุรกี ผมวางตลาดไว้ที่นิช ไม่ใช่แมส เพราะจุดขายคือน้ำยางธรรมชาติไม่มีสารเคมี”
ที่มา : http://www.tcdc.or.th/articles.php?lang=en&act=view&id=74
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น