วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

TASTE OF RETRO

ถึงแม้ว่ากระแสการตกแต่งภายในจะก้าวไกล สู่เทคโนโลยีล้ำสมัยเพียงใดก็ตาม แต่การถวิลหางานแบบย้อนยุค (RETRO) กลับถูกปลุกขึ้นมาใหม่ในรูปแบบที่อ้างอิงเรื่องราวประวัติความเป็นมาในอดีต สอดแทรกด้วยเทคโนโลยีวัสดุอันทันสมัย สร้างสรรค์รูปลักษณ์ในปัจจุบันและสนองความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคอย่างครบครันขณะที่เครื่องเรือนต้นแบบแต่ละชิ้นต่างถูกเก็บสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์สำคัญหลายแห่งเป็นที่เรียบร้อย โดยเฉพาะของแท้ต้นแบบนับวันหายาก จะมีก็แต่ของต้นฉบับที่ถูกปรับปรุงขึ้นใหม่ที่ดูเหมือนจะหาได้ยากในสภาพสมบูรณ์
คำว่า RETRO เกิดจากอารมณ์ถวิลหาคุณค่าความงามในอดีต ด้วยสีสัน เส้นสายและวัสดุอย่างน่าสนใจในยุคนั้น เช่นงานไม้ดัด พลาสติก หรือ ไฟเบอร์กลาส ฯลฯ โดยเฉพาะเครื่องเรือนแบบสแกนดิเนเวียนอันโด่งดัง มีอายุรุ่นราวประมาณช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 จนต้นทศวรรษ 80 ซึ่งเครื่องเรือนในแต่ละยุคมีความแตกต่างกันตามอิทธิพลที่ได้รับ นอกจากนี้ยังมีโรงงานยักษ์ใหญ่ในอเมริกาอย่างเช่น Herman Miller และ Knoll ที่นำรูปแบบเดิมมาพลิกแพลงใหม่ ด้วยวัสดุและเทคโนโลยีอันทันสมัย ในการผลิตยังคงเอกลักษณ์ของเดิมไว้





รูปแบบและสไตล์ที่ถูกนำกลับมาดีไซน์ใหม่ในสไตล์ RETRO

The 50’s Retro

รูปแบบเครื่องเรือนและงานตกแต่งภายในยุค 50 เป็นช่วงเริ่มต้นยุคแห่งการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยนวัฒกรรมทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดวัสดุสังเคราะห์ใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เครื่องเรือนนิยมใช้วัสดุที่คิดค้นขึ้นใหม่ เช่น พลาสติกลามิเนตสีขาว นำมากรุพื้นหน้าโต๊ะ เพื่อช่วยแก้ปัยหาเรื่องกระทบความร้อนและความชื้น รวมถึงป้องกันรอยขีดข่วนต่าง ๆ จากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี ขาตะด้วยสแตนเลสหรือเหล็กชุบโครเมียมดัดโค้ง โซฟามักหุ้นทั้งตัวด้วน Vinyl หนังแท้ และผ้าลายขนสัตว์กุ๊นขอบไส้ไก่โดยรอบ เครื่องเรือนมีรูปทรงเรียบง่าย สามารถผลิตได้ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ไม่เน้นงานฝีมือที่ก่อให้เกิดความล่าช้า และไม่ตอบสนองต่อสายพานการผลิตในปริมาณของผู้บริโภคจำนวนมหาศาล

เครื่องเรือนตัวเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของ ชาร์ลส์ กับ เรย์ อีมส์ ที่ยังมีขายในบ้านเรา

แต่ราคาชุดละแสนกว่าบาท

The 60’s Retro

ทศวรรษ 60 นับเป็นยุคบุกเบิกของ Pop Culture ที่กลายเป็นกระแสนิยมของชาว Baby Boomers ที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ในช่วงวัยรุ่นของคนยุคนั้น ขณะเดียวกันเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างจริงจัง เกิดกระแสตี่อต้านสงครามเวียดนาม ผู้คนแสวงหาอิสรภาพ โดยมีจุดเริ่มต้นในอังกฤษ และอเมริกา แนวดนตรีป๊อปร๊อคของวง The Beatles ที่ช่วยเป็นแรงผลักดันกระแสสันติภาพจากเพลงได้เป็นอย่างดี เช่น ผลงานเพลง IMAGINE จินตนาการที่ไขว่คว้าสวรรค์บนโลกแห่งความเป็นจริงในสังคม เครื่องเรือนสมัยใหม่ที่ผลิตจากเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ภายใต้โรงงานใหม่ หลังจากที่หมดลิขสิทธิ์ พ้นอายุการผลิต และครอบครองยาวนานถึง 30ปี เช่น ผลงานออกแบบโดย Charles & Ray Eames , George Nelson และเครื่องเรือนแถบสแกนดิเนเวียน เช่น ไม้กลึง ไม้ดัด ที่หวนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
เครื่องเรือนและแนวทางในการตกแต่งภายใน นิยมใช้สีรุนแรงฉูดฉาด และเส้นสายที่ให้ความรู้สึกลื่นไหลไม่หยุดนิ่ง ทั้งในงานโปสเตอร์ กระดาษปิดผนัง ผ้าและพรม ศิลปะแนว Op & Pop นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ ในการออกแบบและตกแต่งของยุค 60




สีสัน และบรรยากาศย้อนยุค ของ 60 ที่เน้นสายและลวดลายกราฟฟิค

The 70’s Retro



ขณะที่อเมริกาอยู่ในช่วงของปัญหาเศรษฐกิจถดถอย และขาดแคลนพลังงาน แต่งานออกแบบเครื่องยังคงก้าวหน้าต่อไป อิทธิพลกระแสของ Pop Art ส่งผลต่อเนื่องมายังงานศิลปะ และการออกแบบ เช่นงานของ Andy Warhol ดนตรี Rock & Roll มีบทบาทสำคัญก่อนการเข้าสู่ยุค Disco และเป็นการสิ้นสุดของสไตล์โมเดิร์นอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับแนวทางในการออกแบบตกแต่งภายในที่อยู่ในช่วงงานออกแบบ High-Techและสถาปัตยกรรมแบบ Port-Modern ในช่วงเริ่มต้น
แนวทางการตกแต่งภายในจึงเป็นไปในลักษณะผสมผสานงานหลากหลายรูปแบบ เกิดการขยายตัวของร้านเครื่องเรือนชื่อดังอย่าง Habitat และ Ikea ที่ผลิตงานออกแบบป้อนตลาดในกลุ่มผู้บริโภคในหลากหลายประเทศ ซึ่งมีแนวทางตกแต่งในรูปแบบสำเร็จรูปของงานอุตสาหกรรมปะปนอยู่บ้าง เช่น เหล็ก สแตนเลส อลูมิเนียม ไม้อัด เป็นต้น




ลักษณะแนวทางการตกแต่งภายในยุค 70 ที่มี กลิ่นอายของ Pop art

และความเป็น Industrial look ในช่วงปลาย

The 80’s Retro



เป็นช่วงของยุคทองของ Disco ที่กำลังเบ่งบานด้วยแนวดนตรีเพลงเต้นรำใน ดิสโก้เธค และไนท์คลับ เป็นการกลับมาของยุคแสงสี สัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนอย่างเห็นได้ชัด คือ ลูกบอลโมเสกกระจกเงา (Magic ball) ที่สะท้อนแสงเลเซอร์ภายในบรรยากาศของการตกแต่งภายใน ที่ถูกหยิบยกมาเป็นสัญลักษณ์ในงานออกแบบแผ่นเสียง ผ้าปักเลื่อมสีเงิน และทอง กำมะหยี่ ถูกดัดแปลงมาใช้กับงานออกแบบเช่นกัน รวมไปถึงกางเกงมอสขาบาน หลอดไฟ Fluorescent และNeon light ที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายส่วน ในด้านสถาปัตยกรรมเป็นการค้นพบแนวทางใหม่ในสไตล์ดีคอนสตรัคชันที่สร้างสรรค์มิติใหม่ในพื้นที่ว่างได้อย่างแตกต่างจากยุคสมัยใหม่ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการผลิตและสร้างสรรค์ผลงานออกแบบ

บรรยากาศการตกแต่งภายในด้วย แสง สี เสียง ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวเพลงของ Disco

บทความโดย พี่ปู ค่ะ -_-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น