วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

สถาปัตยกรรมไทยกับความเย็นธรรมชาติ

ลักษณะเด่นของงานสถาปัตยกรรมไทยในแง่มุมของการออกแบบ ที่สามารถปรับสภาพภายในอาคารให้อยู่สบายนั้น กำลังถูกมองข้ามไป เมื่อใดที่กล่าวถึงงานสถาปัตยกรรมไทยทุกคนก็จะนึกถึงรูปทรง ภาพลักษณ์ และองค์ประกอบต่างๆทางสถาปัตยกรรมไทยเท่านั้น บทความนี้พยายามที่จะนำเสนอในแง่มุมอื่น นั่นคือ ในแง่มุมของตัวแปรหลักที่ทำให้สถาปัตยกรรมไทยนั้นสามารถปรับปรุงสภาพภายใน อาคารให้มีความสบายได้ เพื่อสถาปนิกผู้ออกแบบอาคาร เจ้าของอาคาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จะได้ไม่มองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ตั้งแต่ช่วงกลางของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา วัฒนธรรมและเทคโนโลยีจากตะวันตกมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการของไทยเรื่อยมารวม ทั้งงานสถาปัตยกรรมด้วย งานสถาปัตยกรรมไทยได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในรูปทรงและเทคนิคการก่อ สร้าง อาคารแบบตะวันตกมากมายที่คนไทยรับเข้ามาและก่อสร้างขึ้นในภูมิอากาศแบบร้อน ชื้นของไทย โดยทั้งๆที่เราไม่รู้ว่ามันเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยในสภาพอากาศแบบบ้านเรา หรือไม่ แนวโน้มเช่นนี้แผ่ขยายอย่างรวดเร็วในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา จนเราแทบจะไม่เห็นพัฒนาการของงานสถาปัตยกรรมไทยได้ก่อสร้างขึ้นเลย "สถาปัตยกรรมสมัยใหม่" ได้เข้ามาแทนที่ "สถาปัตยกรรมแบบไทย"

สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นได้รับการพัฒนามาหลายศตวรรษ ด้วยเหตุดังกล่าวคงจะตั้งสมมติฐานได้ว่าสถาปัตยกรรมไทยและท้องถิ่นเหมาะสม กับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น และปรับสภาพภายในให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยได้ดีในระดับหนึ่ง มิฉะนั้นแล้วบรรพบุรุษของเราคงไม่ก่อสร้างอาคารและอยู่อาศัยมาหลายชั่วคน แต่มาในยุคสมัยปัจจุบันสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารและเจ้าของอาคารได้มองข้าม และลืมประเด็นเหล่านี้ไป และคิดว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเครื่องปรับอากาศจะเข้ามาแก้ไขสภาพแวดล้อมภายในอาคารได้อย่างเบ็ดเสร็จ เราเลยมองข้ามประเด็นการออกแบบก่อสร้างอาคารที่เหมาะสมเข้ากับภูมิอากาศ รูปแบบสถาปัตยกรรมเมืองหนาวจากตะวันตกพร้อมทั้งเทคโนโลยีและวัสดุจากตะวันตก มีทั้งที่เหมาะสมแต่ส่วนมากจะไม่เหมาะสมหลั่งไหลเข้ามาให้สถาปนิกไทยได้ปฏิบัติออกแบบใช้อย่างภาคภูมิใจ


ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดาและเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับคนไทย เครื่องปรับอากาศได้ขจัดปัญหาสภาพภายในอาคารที่ร้อนรวมทั้งที่ความร้อนเกินกว่าเหตุ แต่การใช้เครื่องปรับอากาศที่มากและแพร่หลายเกินความจำเป็นหรือเกินกว่าเหตุ ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ได้ลุกลามและเข้ามาเบียดเบียนทำลายวิถีชีวิต และสภาพความเป็นอยู่ของเราโดยถ้วนกันทั้งคนเมืองและคนชนบท เป็นที่ทราบกันได้ว่าปัญหาดังกล่าวได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ และการอพยพถิ่นฐานผู้อยู่อาศัยเพื่อการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า มลภาวะจากโรงผลิตกระแสไฟฟ้า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกจากการเผาเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และผลกระทบจากการให้สารคลูโรฟลูโอโรคาร์บอน(CFCs) ที่ใช้ในการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศที่ไปทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศที่ ห่อหุ้มโลก ทำให้ระดับรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตสูงขึ้น

ก่อนที่เราจะพัฒนางานสถาปัตยกรรมของไทยต่อไป เราควรพินิจสิ่งที่บรรพบุรุษได้คิดค้น และพัฒนามา คงรักษาแง่มุมอันชาญฉลาด และผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาการสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนในอนาคต

1 ความคิดเห็น: