วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อิทธิพลของ "สี" กับการตกแต่งภายในอาคาร



จากการศึกษาและวิจัยมากมายบอกว่า สีมีอิทธิพลต่อสภาพจิตวิทยา หรือจิตใจของมนุษย์ สังเกตได้ง่ายๆ ว่าทำไมเรามองทุ่งหญ้าสีเขียวที่ลานกว้าง และท้องฟ้าสีฟ้าสดใสแล้วจึงรู้สึกสดชื่น ทำไมร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ใช้สีสดมาผสมผสาน ตัดและขัดแย้งอย่างรุนแรง ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน แต่ไม่สามารถนั่งปล่อยใจนานๆ วารสาร PAINT YOUR WORLD ของ บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ จึงขอนำสาระสำคัญมาถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่าน

สีเขียวเพื่อพื้นที่ผ่อนคลา

สีเขียวสามารถทำให้คนรู้สึกผ่อนคลายและสบายตัวได้ การใช้สีเขียวเพื่อตกแต่งภายในสำนักงานหรือห้องต่างๆ จึงมักจะออกมาดูดี และให้ความรู้สึกสบายตาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นห้องหรือสำนักงาน เพราะอิทธิพลของสีเขียวสามารถทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่นและใจเย็น
การเลือกมาใช้สำหรับภายในอาคาร CDC จึงเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ทำงานของกลุ่มคนประเภทที่ต้องการใช้สมาธิในการทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ อยู่กับงานเอกสารตลอดวัน จะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานได้ราบรื่น มีความสบายใจ ไม่รู้สึกเครียดเกินไป

สีม่วงกับฝ่ายสร้างสรรค์
สีม่วงเป็นสีที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ แต่ไม่ใช่ว่าต้องการห้องที่ช่วยในเรื่องการสร้างสรรค์แล้ว จะประโคมใส่สีม่วงเข้มที่ล้นเหลือเข้าไป เช่นนั้นอาจจะส่งผลในทางลบมากกว่า ห้องที่ดูจะเหมาะกับการใช้สกีมสีม่วงในโทนต่างๆ นั้นน่าจะเป็นห้องของคนที่ต้องการใช้ความคิดและการสร้างสรรค์สูง อาทิ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายสื่อสารการตลาด สำนักงานของผู้บริหารระดับสูง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่ดี กระตุ้นสมอง ทำให้เกิดปัญญา ความเฉลียวฉลาด และอารมณ์ดี

สีเทาในห้องปฏิบัติการ
ดูเหมือนว่าสีเทาเองก็เกิดจากการผสมระหว่างสีสองสี คือขาวและดำ เพื่อให้ได้ความเป็นกลาง ดังนั้นสีเทาจึงกลายเป็น สัญลักษณ์ของอารมณ์สีที่เป็นกลาง ไม่หนัก ไม่อ่อน เป็นเหมือนสีเรียบที่พยายามไม่แสดงความรู้สึกหรืออารมณ์ทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน หรือเปิดเผยอย่างตรงๆ การนำสีเทาไปใช้ให้เกิดประโยชน์จึงเหมาะสมสำหรับใช้ในห้องประเภทที่ต้องทำงานด้านปฏิบัติการ ห้องที่ฝ่ายเทคนิคต้องทำการทดลองสีหลายๆ สีตลอดวัน หรือห้องที่ดีไซเนอร์ต้องเห็นสีที่แตกต่างหลายเฉด
สิ่งสำคัญคือ สีขาวกลายเป็นสีต้องห้ามสำหรับห้องปฏิบัติการแบบนี้ เพราะสีขาวมีความสว่างและการสะท้อนของแสงออกมาเต็มร้อย ซึ่งจะทำให้เกิดการกระทบกับสายตาที่รุนแรงเกินไป เจิดจ้าเกินไป

สีเหลืองสำหรับพื้นที่ติดต่อสื่อสาร
สีเหลืองที่เหมาะกับการใช้ภายในสำนักงานหรือห้องทำงาน โดยทั่วไปมักไม่ใช้สีเหลืองสดหรือเหลืองเข้ม แต่ต้องมีการลดเฉดและความสดของสีให้เบาบางลง แต่เพิ่มความสว่างเพื่อให้สีเหลืองมีความอ่อนโยน นุ่มนวล และอบอุ่น สีเหลืองอ่อนจึงดูจะเหมาะกับการสร้างบรรยากาศสบายๆ ให้กับพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสาร เช่น ห้องฝ่ายติดต่อลูกค้าสัมพันธ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายบริการลูกค้า ธุรการ บุคคล หรือส่วนที่ต้องมีการติดต่อพูดคุยกับผู้คนมากมาย

สีแดงในมุมสังสรรค์
ขึ้นชื่อว่าสีแดง เป็นสีโทนร้อนที่มีความแรงในตัวเองอย่างสุดๆ ไม่ว่าห้องไหน พื้นที่ใดในสำนักงานหรือในบ้าน หากต้องการใช้สีแดง ต้องใช้อย่างระมัดระวังในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป เพราะสีแดงหมายถึงความตื่นเต้น กระฉับกระเฉง ความคล่องแคล่วว่องไว และอันตรายที่ควรให้ความระวังอย่างเต็มที่ เราจึงเห็นการนำความหมายของสีแดงไปใช้เพื่อแทนสัญลักษณ์ในการสื่อแทนคำพูดหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องหมายกากบาทสีแดงของกาชาด หรือรถพยาบาล ไฟจราจรสีแดงที่บอกถึงการหยุด
ในอีกแง่มุมหนึ่ง สีแดงสำหรับวัฒนธรรมตะวันออก กลับหมายถึงความโชคดี มั่งคั่งร่ำรวย และการอยู่ในระดับชั้นสูง ดังนั้นจึงไม่อาจกำหนดตายตัวชัดเจนได้ว่า สีแดงเป็นสีในเชิงลบ การนำสีแดงในปริมาณที่เหมาะสมมาใช้ภายในอาคาร จึงนำมุมมองในแง่ดีมาสื่อสาร เพื่อให้เกิดความสดใส ร่าเริง และเกิดพลังงานการเคลื่อนไหวอยู่ในตัว พื้นที่สำหรับการใช้สีแดงจึงควรอยู่ในมุมที่ต้องการเปิดเผย ต้องการแสดงตัว หรือสื่อสารกับคนภายนอกได้อย่างชัดเจน

การผสมเฉดสีอื่นเข้ากับสีแดงบนพื้นที่ขนาดกลาง ช่วยเพิ่มความรู้สึกแบบอื่นได้ดี เช่น การผสมสีม่วงสว่างและชมพูนิ่งเพื่อใช้ในห้องประชุม หรือห้องสัมมนาซึ่งเป็นห้องที่มีการใช้งานเฉพาะกิจเพียงช่วงเวลาไม่นาน จึงไม่ทันได้เกิดความล้าหรือร้อนแรงเกินไป แต่กลับทำให้เกิดการกระตือรือร้นมากขึ้นแทน

อีกมุมหนึ่งที่เหมาะสมอยู่ในบริเวณต้อนรับหรือประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องการเรียกร้องและดึงดูดให้ผู้คนได้เดินเข้ามาติดต่อสอบถาม หรือเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาอย่างอารมณ์ดีและสดชื่น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

1 ความคิดเห็น: