วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

แนวความคิดและการออกแบบ บ้าน นวธานี


ขนาดที่ดิน 453 ตารางวา
ขนาดบ้าน 460 ตารางเมตร
เจ้าของ คุณพรพิมล อังยุรีกุล
ที่อยู่ 124 ซอย3 หมู่บ้านนวธานี ถนนเสรีไทย59 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. 10230


ความเป็นมา
เป็นความต้องการที่จะขยับขยายจากบ้านหลังเก่าที่ครอบครัวได้อยู่อาศัยมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปี ในตอนแรกแม้ทุกคนในบ้านจะมีความรู้สึกผูกผันกับบ้านหลังเก่านี้มาก ด้วยที่ว่าเป็นบ้านหลังแรก ทั้งการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวและความทรงจำต่างๆ ของทุกๆคนก็เกิดขึ้นที่บ้านหลังนี้ แต่เนื่องด้วยเหตุผลหลายๆประการ เช่นบ้านเก่าหลังนี้เป็นบ้านจัดสรรซึ่งผ่านการต่อเติมซ่อมแซมมาแล้วหลายต่อหลายครั้งเพี่อที่จะรองรับความต้องการของครอบครัวที่เติบโตขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้าง รูปแบบของบ้าน และความสูงของเพดาน ห้องและฟังก์ชั่นต่างๆในบ้านที่ถูกต่อเติมขึ้นจึงเป็นเหมือนการปะติดปะต่อกันอย่างไม่ลงตัว และไม่สามารถตอบสนองการใช้ชีวิตของครอบครัวอย่างเหมาะสมได้แม้ว่าจะขยายหรือต่อเติมแก้ไขอีกเท่าไรก็ตาม อีกทั้งระบบต่างๆของบ้านก็เริ่มเสื่อมสภาพท่อระบายน้ำตัน ชักโครกกดไม่ลง เพราะถนนและท่อระบายน้ำหน้าบ้านถูกทำให้สูงกว่าระดับท่อและบ่อซึมในบ้านเสียแล้ว ทุกๆคนจึงตัดใจที่จะแก้ไขต่อเติมบ้านหลังเก่า และเริ่มคิดที่จะปลูกบ้านหลังใหม่ ที่เป็นบ้านที่เหมาะกับความเป็นอยู่ของครอบครัวจริงๆ (บ้านหลังเก่าของครอบครัวก็ยังคงอยู่โดยดัดแปลงเป็นออฟฟิศของบริษัทของลูกชายแทน)


แนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน

ทำเลที่ตั้งและการวางผัง


ที่ดินแปลงนี้เจ้าของบ้านได้มาเกือบสิบปีแล้ว ในตอนแรกมีเพียงแปลงเดียวคือ 105 ตารางวา ด้วยเจ้าของ(คุณแม่)เป็นคนชอบสวนและการปลูกต้นไม้ เลยถูกใจที่จัดสรรในหมู่บ้านนี้มากเพราะเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และร่มรื่นน่าอยู่ จึงซื้อเพิ่มอีกทีละแปลงสองแปลงจนเป็นขนาด 453ตารางวา ที่ดินมีขนาด 30x60เมตร โดยประมาณ ด้วยความตั้งใจแรกของครอบครัวว่าจะปลูกบ้านอยู่ด้วยกันเมื่อลูกๆโตมีครอบครัวแล้ว การจัดวางผังจึงจะต้องเพื่อที่ดินเอาไว้ปลูกบ้านหลังเล็กๆอีกสองหลังด้วย จึงเลือกที่จะปลูกบ้านหลังนี้ซึ่งเป็นบ้านของพ่อแม่เป็นบ้านประธานอยู่ตรงกลางที่ดิน และบ้านลูกชายทั้งสองที่จะปลูกในอนาคตอยู่ซ้ายและขวา โดยตั้งใจที่จะให้ทั้งสามครอบครัวได้มาอยู่พบปะ รับประทานอาหาร และทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้านนี้
การจัดวางแนวแกนของบ้าน ได้วางเป็นทางยาวขนานกับทิศตะวันออก ตะวันตก เพื่อที่จะลดผลกระทบของความร้อนจากแสงแดด ในขณะเดียวกันก็หันด้านหน้าบ้านไปทางทิศใต้เพื่อรับลม แม้ในฤดูหนาวที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะอ้อมมาทางทิศใต้ซึ่งจะปะทะหน้าบ้านอยู่บ้าง จึงต้องมีการติดตั้งม่านกรองแสงมาเพื่อแก้ไขตรงจุดนี้



บ้านของพ่อแม่ และลูกๆวัยทำงาน
บ้านหลังนี้มีสมาชิกคือพ่อแม่ และลูกชายอีกสองคนที่เรียนจบและทำงานแล้วทั้งคู่ แต่ละคนก็มีหน้าที่การงานและตารางเวลาที่แตกต่างกัน(กลับบ้านและตื่นนอนไม่พร้อมกัน) ทุกๆคนต้องการบ้านที่อบอุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันเหมือนบ้านหลังเก่า แต่ก็ต้องการความเป็นส่วนตัวด้วย บ้านหลังนี้จึงถูกออกแบบให้อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน(single roof house) มีหลังคาเดียวแต่มี 3 โซนห้องพักที่แต่ละโซนมีทางเข้าออกแยกและเป็นอิสระจากส่วนกลางของบ้าน และมีพื้นที่และมุมมองที่มีความเป็นสัดส่วนจากกัน แต่ก็สามารถรู้ถึงการอยู่อาศัยของสมาชิกคนอื่นๆในบ้านได้จากหน้าต่างของทุกๆห้องที่มองเข้าหาพื้นที่ส่วนกลางของบ้านและมองเห็นหน้าต่างของแต่ละโซนได้ จึงได้ทั้งความรู้สึกอบอุ่นของการอยู่ร่วมกันอย่างครอบครัวในขณะเดียวกันกับที่มีความเป็นอิสระส่วนตัวของแต่ละคนด้วย


บ้านของคนรักธรรมชาติ


การเลือกที่จะปลูกบ้านที่นี่ก็เพราะอากาศที่ดี และความร่มรื่นของสภาพแวดล้อม จึงมีความคิดที่ว่าจะให้การอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด ต้องการให้ทุกๆห้องในบ้านได้รับแสงสว่างและอากาศภายนอก มีมุมมองเห็นสวนและต้นไม้ เย็นสบาย โปร่งโล่งและไม่ให้เกิดความรู้สึกอึดอัดปิดล้อมเหมือนเมื่ออยู่ในบ้านหลังเก่า
การออกแบบบ้านจึงต้องทำให้ผนังส่วนใหญ่เป็นกระจกใสและมีช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อรับทั้งลมและแสงสว่าง แต่บ้านก็ต้องมีหลังคาที่ยาวด้วยเพื่อลดการปะทะของแสงแดดโดยตรงเข้ากับกระจกซึ่งจะนำพารังสีความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ชายคาของบ้านทั้งด้านหน้าและหลังยาวถึงด้านละ 4 เมตร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแต่ละห้องในตัวบ้านไม่โดยแสงแดดโดยตรงและไม่ถูกฝนสาด ชายคาด้านหน้าบ้านเชิดขึ้นเพื่อให้สามารถมองเห็นท้องฟ้าได้ แต่ก็ทำให้ต้องมีแผงครีบบังแดด(horizontal louvre)มาช่วย และยังทำหน้าที่กันฝนสาดได้อีกด้วย ส่วนหลังคาของบ้านนั้นได้ออกแบบให้เป็นทรงสามเหลี่ยมคว่ำที่มีความหนาคือมีพื้นที่ใต้หลังคามาก เพื่อที่เป็นฉนวนกันความร้อน และในขณะเดียวกันก็ได้ติดตั้งช่องระบายอากาศตลอดแนวหน้าและหลังของหลังคา เพื่อที่จะให้อากาศร้อนภายในหลังคาไหลผ่านออกไปได้

ห้องโถงกลาง
พื้นที่นี้ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์รวมของสมาชิกทุกคนของครอบครัวในปัจจุบัน และครอบครัวของลูกๆในอนาคต เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้รับแขก เขียนหนังสือ ทำงาน และทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ตลอดจนจัดงานเลี้ยงในหมู่ญาติพี่น้องซึ่งมีประมาณ 40-50 คนโดยจะจัดกันเป็นประจำทุกๆปี ห้องโถงกลางนี้จึงถึงเป็นหัวใจของบ้านหลังนี้ที่อาจจะมีความต้องการการใช้สอยที่ไม่เหมือนกับบ้านหลังอื่นๆ


ห้องโถงกลางนี้จึงต้องถูกออกแบบให้สามารถรองรับการใช้สอยได้หลากหลายรูปแบบ ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่สบายด้วย แนวทางการออกแบบใต้ถุนของบ้านทรงไทยถูกนำมาประยุกต์ใช้ โดยการออกแบบผนังกระจกทั้งสองด้านตลอดแนวยาวของห้องโถงให้สามารถเลื่อนเปิดได้ถึง 70%เพื่อให้ลมสามารถไหลผ่านได้ ลดปริมาณความร้อนสะสมภายในห้อง ขณะเดียวกันก็เลือกใช้หินอ่อนปูนพื้นห้องเพื่อที่จะดึงความเย็นของพื้นดินขึ้นมาลดอุณหภูมิของห้อง และการมีเพดานที่สูงและหลังคาที่หนาก็ยังทำหน้าที่ป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี

การออกแบบ ตกแต่งภายใน


ความต้องการของสมาชิกในบ้านที่ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง และไม่รกรุกรัง จึงทำให้บ้านหลังนี้ถูกตกแต่งตามแนวความคิดดังกล่าว ตั้งแต่การจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอย การกำหนด(สเปซ)ที่ว่างภายในและความสัมพันธ์ของโซนต่างๆที่ถูกออกแบบตามแนวคิดที่เป็นระบบอย่างต่อเนื่อง การใช้เส้นสายในงานสถาปัตย์ที่ตรงไปตรงมา และการตกแต่งภายในโดยการไม่อิงยุคสมัยและสไตล์ใดๆ แต่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้ที่ใช้สอยอาคารเป็นสำคัญ โดยที่แต่ละห้องของบ้านจะถูกกำหนดให้มีบรรยากาศที่แตกต่างกันตามแต่ความเหมาะสมของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้อง และสอดคล้องกับความชอบของผู้เป็นเจ้าของห้องด้วย
“การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา” คงจะอธิบายได้ดีถึงลักษณะแปลกๆของขอประดับตกแต่งที่อยู่ในบ้านหลังนี้ เนื่องด้วยเพราะวิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีนของทั้งครอบครัวที่เคยดำเนินอยู่มาจนเกิดความเคยชินนั้นกับไม่เรียบง่ายและเป็นระเบียบอย่างที่คิด สิ่งของต่างๆที่ยังจำเป็นและไม่สามารถปล่อยวางได้จากการดำเนินชีวิตในรูปแบบเดิมจึงยังถูกนำมาไว้ในบ้านหลังใหม่นี้ ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อที่สมาชิกทุกๆคนในบ้านจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสู่วิถีการใช้ชีวิตในแบบที่ตั้งใจไว้

แนวความคิดในการเลือกใช้วัสดุ


วัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้ในงานสถาปัตย์และตกแต่งภายในของบ้านหลังนี้เป็นวัสดุที่หาได้ภายในประเทศ (มีเพียงหินที่ใช้ทำโต๊ะห้องรับประทานอาหารเท่านั้นที่เลือกใช้สีให้เข้ากับการตกแต่งจึงต้องใช้หินต่างประเทศ) โดยเลือกใช้วัสดุตามคุณสมบัติที่เหมาะสม มีความทนทาน และสวยงามตามธรรมชาติ อาทิเช่น ไม้สักธรรมชาติ หินอ่อนสีขาวเทาจากเหมืองสระบุรี หินทรายสีเขียวขัดหน้าเรียบ และหินทรายสีเทาหน้าธรรมชาติ ฯลฯ




แนวความคิดในการเลือกใช้วัสดุต่างๆร่วมกันในงานนั้น ผู้ออกแบบได้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวในความแตกต่างของการแสดงออกของวัสดุแต่ละชนิด ทั้งในเรื่องของสีสัน ลวดลายตามธรรมชาติ ผิวสัมผัส การสะท้อนและการหักเหของแสง และเทคนิคที่จะนำวัสดุเหล่านั้นมาติดตั้งให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างและแปลกตา

เฟอร์นิเจอร์



การออกแบบและเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ในบ้านหลังนี้นั้น เน้นไปที่ความเหมาะสมในการใช้งานเป็นหลัก เน้นดีไซน์ที่มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ความน่าสนใจของงานนั้นจะเกิดจากความแตกต่างกันของเฟอร์นิเจอร์แต่ละตัวที่เมื่อนำมาวางอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นที่ขนาด รูปทรง วัสดุที่ใช้ หรือสีสัน และความตัดกันระหว่างตัวเฟอร์นิเจอร์นั้นกับเส้นสายของพื้นหลังที่เป็น สเปซ และสถาปัตยกรรมของบ้านด้วย


การออกแบบแสงสว่าง


ทุกๆพื้นที่และทุกๆห้องในบ้านหลังนี้ ยกเว้นเพียงห้องรับประทานอาหารซึ่งมักใช้ดูทีวีด้วยเท่านั้น สามารถใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องใช้แสงประดิษฐ์เลยในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนนั้นทั้งภายในและบริเวณรอบๆตัวบ้านก็มีความสว่างเพียงพอที่จะมองเห็นทางเดินได้
แนวทางในการออกแบบแสงประดิษฐ์ของบ้านหลังนี้ก็คือ ต้องการให้บ้านมีบรรยากาศที่นุ่มนวล ผ่อนคลายในโอกาสที่ใช้พักผ่อนหรือสังสรรค์ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีปริมาณและคุณภาพของแสงที่เพียงพอต่อการทำกิจกรรมหลายๆอย่างที่แตกต่างกันภายในบ้านโดยเฉพาะห้องโถงกลางที่เป็นห้องอเนกประสงค์ และแสงยังต้องช่วยทำให้สถาปัตยกรรมและพื้นที่ภายในอาคารเกิดความน่าสนใจในแบบสามมิติด้วย ในการที่จะบรรลุโจทย์ที่ตั้งไว้นี้ จึงต้องกำหนดให้มีแสงสว่างหลัก3ชุดเพื่อทำหน้าที่หลักๆสามประการก็คือ สร้างบรรยากาศและความน่าสนใจให้กับสเปซ(ambient light) ให้แสงสว่างที่เพียงพอต่อการทำกิจกรรม(task light) และแสงส่องเน้น(accent light)เพื่อให้สถาปัตยกรรมและงานตกแต่งโดดเด่นขึ้น แสงทั้ง3ชุดนี้สามารถใช้ผสมผสานกันได้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ร่วมกันหรือบรรยากาศที่แตกต่างกันไป นอกจากนั้นยังได้มีการใช้แสงสีต่างๆในการสร้างความรู้สึกน่าสนใจ ตื่นเต้น แปลกตา แต่ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของปริมาณและจุดตกกระทบของแสงสีเพื่อไม่ให้รบกวนการมองเห็นสีที่แท้จริงผิดเพี้ยนไป

ปัญหาในการออกแบบและก่อสร้าง
• มีปัญหาบ้างในการใช้หินธรรมชาติเนื่องจากลวดลายและสีสันมีความแตกต่างกันจึงทำให้ต้องคัดเลือกและรอให้ได้หินแบบและลายที่ต้องการในปริมาณที่เพียงพอ จึงทำให้เผื่อระยะเวลาในแผนการก่อสร้างด้วย
• การติดตั้งผนังหินทรายหน้าเรียบที่มีการเพ่สันหิน และผนังหินทรายหน้าธรรมชาติที่ปูสลับสูงต่ำก็ทำได้ยากกว่าที่คิดไว้ เพราะว่าหินทรายนั้นจะโก่งตัวเมื่อมีการดูดซึมน้ำมากจึงทำให้เกิดการหลุดร่อน ได้มีการลองผิดลองถูกอยู่หลายวิธีจึงสำเร็จ
• ด้วยความต้องการที่จะให้ห้องโถงกลางเปิดโล่งได้มากที่สุด จึงได้มีคิดถึงการใช้ประตูบานเพี้ยมกระจก แต่เมื่อได้พิจารณาถึงความไม่สะดวกในการเปิดปิดที่ต้องใช้กำลังมาก ขนาดของเฟรมที่ใหญ่โตและรางเลื่อนด้านล่างที่มีร่องลึกและใหญ่ซึ่งอาจจะทำให้สะดุดได้เวลาเดินผ่าน จึงทำให้มาเลือกใช้บานประตูกระจกเลื่อนสามตอนแทน ซึ่งแม้ว่าจะเปิดได้เพียง70% แต่ก็เป็นการเหมาะสมต่อการใช้งานมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับข้อเสียข้างต้น
• การติดตั้งประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่และสูงมากๆนั้น (ชุดบานกระจกสูง6เมตร และตัวบานเลื่อนสูง3เมตร) ต้องมีการเสริมโครงสร้างเหล็กเข้าไปในเฟรมอลูมิเนียมเพื่อให้เกิดความแข็งแรง และมีการคำนวณการรับน้ำหนักชุดบานกระจกติดตายที่อยู่เหนือบานเลื่อนแล้วทำโครงเหล็กแขวนยึดขึ้นกับโครงหลังคาเพื่อป้องกันไม่ให้เฟรมมีการแอ่นตัวลงซึ่งจะทำให้บานเลื่อนมีปัญหาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น